วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โจทย์ตัวอย่าง
1. นายสีเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง นายสีได้อนุญาตให้นายสายปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้นตลอดชีวิตของนายสาย ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อมานายสีได้ทำสัญญาจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนั้นให้นายแสง เมื่อรับโอนจดทะเบียนที่ดินเรียบร้อยนายแสงได้มาให้นายสาย ออกจากบ้านเพราะตนเองจะเข้าอยู่ในบ้านหลังนั้น ให้ท่านวินิจฉัยว่าบ้านหลังนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของใครระหว่างนายแสงกับนายสาย
หลักกฎหมาย
มาตรา 146 “ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ข้อความนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย”
วินิจฉัย
ป.พ.พ. มาตรา 146 สิทธิในที่ดินของผู้อื่นนั้นมีได้ทั้งทรัพยสิทธิหรือบุคคลสิทธิ จะทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ด้วยวาจา หรือยินยอมโดยไม่มีสัญญาต่อกันก็ได้ การที่นายสีเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง ได้อนุญาตให้นายสายปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้นตลอดชีวิตของนายสาย แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ดังนี้ นายสายจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของนายสี เพราะการอนุญาตของนายสีนั้นเป็นการก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ์ระหว่างนายสีกับนายสาย ต่อมานายสีได้ทำสัญญาจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนั้นให้นายแสง เมื่อรับโอนจดทะเบียนที่ดินเรียบร้อยนายแสงได้มาให้นายสาย ออกจากบ้านเพราะตนเองจะเข้าอยู่ในบ้านหลังนั้น ซึ่งโดยปกติตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถือได้ว่าบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน แต่ตามข้อเท็จจริงนี้การที่นายสายสร้างบ้านบนที่ดินของนายสี ถือได้ว่าได้สร้างบ้านบนที่ดินของผู้อื่นโดยเจ้าของยินยอม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน ดังนั้น นายสายจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนี้ เพราะนายสายเป็นผู้มีสิทธิปลูกบ้านในที่ดินของนายสี บ้านหลังนี้จึงไม่ได้เป็นส่วนควบของที่ดิน
สรุป      บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสาย เพราะบ้านไม่ได้เป็นส่วนควบของที่ดิน




2. นายเฮงเช่าบ้านพร้อมที่ดินแปลงหนึ่งของนายฮวดเป็นเวลา 10 ปี โดยได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อนายเฮงเข้าครอบครองบ้านและที่ดินดังกล่าวแล้ว นายเฮงได้ต่อเติมบ้านขึ้นอีกหนึ่งห้องโดยไม่ได้แจ้งให้นายฮวดทราบ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายเฮงกับนายฮวดใครมีสิทธิ์ในห้องที่ต่อเติมใหม่ เพราะเหตุใดจงอธิบาย
หลักกฎหมาย
มาตรา 144 “ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น”
            วินิจฉัย
การที่นายเฮงเช่าบ้านพร้อมที่ดินแปลงหนึ่งของนายฮวดเป็นเวลา 10 ปี โดยได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อนายเฮงเข้าครอบครองบ้านและที่ดินดังกล่าวแล้ว นายเฮงได้ต่อเติมบ้านขึ้นอีกหนึ่งห้องโดยไม่ได้แจ้งให้นายฮวดทราบ ห้องที่นายเฮงต่อเติมขึ้นใหม่นี้มีลักษณะติดกับบ้านเป็นการถาวร เพราะไม่ปรากฏว่าเป็นการปลูกสร้างเพียงชั่วคราวแล้วจะรื้อถอนไป ห้องนั้นจึงเป็นส่วนควบของบ้าน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 เพราะ ห้องที่ต่อเติมขึ้นมาใหม่นั้นไม่อาจแยกจากบ้านได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป ดังนี้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วนายฮวดจึงมีสิทธิ์ในห้องที่ต่อเติมใหม่ เพราะห้องที่ต่อเติมใหม่นั้นเป็นส่วนควบของบ้าน นายฮวดเป็นเจ้าของทรัพย์จึงมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 วรรค 2 ซึ่งเป็นการได้กรรมสิทธิ์ตามผลของกฎหมาย
สรุป      นายฮวดมีสิทธิในห้องที่ต่อเติมใหม่ เพราะห้องที่ต่อเติมใหม่เป็นส่วยควบของบ้าน






3. ทองตกลงยินยอมด้วยวาจาให้เงินทำถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของทองได้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อทองอนุญาต เงินจึงได้ทำถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของทองเพื่อเข้าไปในที่ดินของเงินตลอดมา ต่อมาทองได้ยกที่ดินทองแปลงนั้นให้นาค นาคได้สร้างรั้วปิดกั้นไม่ให้เงินผ่านเข้าออก เงินจะฟ้องร้องให้นาคเปิดรั้วเพื่อให้เงินผ่านเข้าออกเหมือนเดิมได้หรือไม่เพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1299 ว.1 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”
วินิจฉัย
การที่ทองตกลงยินยอมด้วยวาจาให้เงินทำถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของทองได้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อทองอนุญาตเงินจึงได้ทำถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของทองเพื่อเข้าไปในที่ดินของเงินตลอดมา นิติกรรมระหว่างทองกับเงินนั้นไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เพราะนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่นิติกรรมนั้นไม่บริบูรณ์ ต่อมาทองได้ยกที่ดินทองแปลงนั้นให้นาค นาคได้สร้างรั้วปิดกั้นไม่ให้เงินผ่านเข้าออก เงินจะฟ้องร้องให้นาคเปิดรั้วเพื่อให้เงินผ่านเข้าออกเหมือนเดิมไม่ได้เพราะ นิติกรรมระหว่างทองกับเงินไม่บริบูรณ์ เมื่อไม่บริบูรณ์จึงไม่ก่อให้เกิดทรัพยสิทธิในที่ดินของทอง เกิดเพียงแค่บุคคลสิทธิ สามารถบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาคือทองกับเงิน หรือทายาทโดยธรรมผู้รับพินัยกรรมเท่านั้น นาคจึงมีสิทธิที่จะสร้างรั้วปิดกั้นไม่ให้เงินผ่านเข้าออกได้
สรุป      เงินจะฟ้องร้องให้นาคเปิดรั้วเพื่อให้เงินผ่านเข้าออกเหมือนเดิมไม่ได้







4. ห้างหุ้นส่วนจำกัดคอมไฮเทคเป็นห้างที่ขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่มีร้านขายคอมพิวเตอร์อยู่หลายร้านในบริเวณเดียวกัน นายแดงเจ้าของร้านได้นัดหมายให้นายดำลูกค้าที่ซื้อคอมพิวเตอร์จากร้านตนมาดูแหวนเพชรที่เพื่อนของนายแดงมาฝากขายไว้ที่ร้านนี้ เมื่อนายดำมาดูแล้วเกิดความพอใจจึงตกลงซื้อในราคาหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นราคาปกติที่ซื้อขายกันในท้องตลาด หลังจากนั้นหนึ่งเดือนนายชาวเจ้าของแหวนเพชร ซึ่งได้แจ้งความกับเจ้าพนักงานตำรวจว่าแหวนเพชรของตนหายและทราบว่าอยู่ที่นายดำ จึงได้มาขอคืน นายดำจึงปรึกษาทนายความว่าตนจะต้องคืนแหวนวงนั้นให้ขาวหรือไม่ ถ้าท่านเป็นทนายความจงให้คำปรึกษาแก่ดำ
หลักกฎหมาย
มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นไม่จำเป็นต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”
วินิจฉัย
การที่นายแดงเจ้าของร้านขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่มีร้านขายคอมพิวเตอร์อยู่หลายร้านในบริเวณเดียวกัน ได้นัดหมายให้นายดำลูกค้าที่ซื้อคอมพิวเตอร์จากร้านตนมาดูแหวนเพชรที่เพื่อนของนายแดงมาฝากขายไว้ที่ร้านนี้ เมื่อนายดำมาดูแล้วเกิดความพอใจจึงตกลงซื้อในราคาหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นราคาปกติที่ซื้อขายกันในท้องตลาด การซื้อแหวนของนายดำไม่ถือว่าเป็นการซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น เพราะนายแดงเป็นพ่อค้าขายคอมพิวเตอร์ไม่ใช่พ่อค้าขายแหวน  หลังจากนั้นหนึ่งเดือนนายขาวเจ้าของแหวนเพชร ซึ่งได้แจ้งความกับเจ้าพนักงานตำรวจว่าแหวนเพชรของตนหายและทราบว่าอยู่ที่นายดำ จึงได้มาขอคืน นายดำจะต้องคืนแหวนวงนั้นให้ขาว เพราะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จะคุ้มครองผู้ที่ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น แต่ตามข้อเท็จจริง นายดำไม่ได้ซื้อแหวนมาจากพ่อค้าขายแหวน จึงถือว่าเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 ดังนี้หากข้าพเจ้าเป็นทนายจะแนะนำให้นายดำคืนแหวนวงนั้นให้ขาว เพราะนายดำซื้อมาโดยไม่สุจริตกฎหมายไม่คุ้มครอง
สรุป      นายดำต้องคืนแหวนวงนั้นให้นายขาว




5. ที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ นายใสอยากได้ที่ดินแปลงนี้จึงไปเสียภาษีที่ดินแปลงนี้มาทุกปี แต่ไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ นายแสงเห็นว่าที่ดินแปลงนี้ไม่มีใครครอบครองจึงได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ นายแสงครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่าแปลงนี้มาได้ 6 เดือน นายใสได้ขับไล่นายแสงให้ออกจากที่ดินแปลงนี้ โดยอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน และนายแสงแย่งการครอบครองที่ดินแปลงนี้จากตนยังไม่ครบ 1 ปี ตนจึงมีสิทธิเรียกคืนที่ดินแปลงนี้จากนายแสงได้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายใสกับนายแสงใครมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากันเพราะเหตุใด และข้ออ้างนายใสรับฟังได้หรือไม่เพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”
มาตรา 1375 “ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คือซึ่งการครอบครองเว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง”
วินิจฉัย
การที่ที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ นายใสอยากได้ที่ดินแปลงนี้จึงไปเสียภาษีที่ดินแปลงนี้มาทุกปี แต่ไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ เมื่อนายแสงเห็นว่าที่ดินแปลงนี้ไม่มีใครครอบครองจึงได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของนายแสงนั้นเป็นการยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน กล่าวคือมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน นายแสงจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ต่อมานายแสงครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่าแปลงนี้มาได้ 6 เดือน นายใสได้ขับไล่นายแสงให้ออกจากที่ดินแปลงนี้ โดยอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน และนายแสงแย่งการครอบครองที่ดินแปลงนี้จากตนยังไม่ครบ 1 ปี ตนจึงมีสิทธิเรียกคืนที่ดินแปลงนี้จากนายแสงได้ ตามข้อเท็จจริงนี้ ในกรณีที่ดินมือเปล่านั้น ผู้ที่ครอบครองที่ดินเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าคนอื่น ดังนั้นนายแสงจึงเป็นผู้มีสิทธิดีกว่านายใส เพราะนายแสงเป็นผู้ที่อยู่และทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ ถึงแม้ว่านายใสจะใช้สิทธิเอาคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1375 ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะนายแสงมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่านายใส ข้ออ้างของนายใสจึงรับฟังไม่ขึ้นเนื่องจากนายใสทำแค่เสียภาษีทุกปีไม่ได้มีการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้เลย
สรุป      ข้ออ้างนายใสรับฟังไม่ขึ้น เพราะนายแสงเป็นผู้ครอบครองที่ดินจึงมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายใส

6. นายวันทำงานอยู่ที่กรุงเทพได้ซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากเพื่อน โดยไม่ได้มารังวังตรวจสอบเขตเพราะไม่มีเวลา ที่ดินแปลงนี้อยู่ใกล้กับที่ดินของนายอาทิตย์ซึ่งมีอาชีพทำนาและเลี้ยงวัว นายอาทิตย์ได้พาวัวเข้าไปกินหญ้าและเข้าไปตักน้ำในที่ดินนายวันมาใช้ประโยชน์ รดน้ำต้นไม้และใช้ในครัวเรือนของตนตลอดมาหลายปี ก่อนที่ผู้ครอบครองเดิมโอนขายให้นายวัน เมื่อซื้อที่ดินแปลงนี้มาได้ 6 เดือน นายวันได้รังวัดที่ดินเพื่อทำรั้วกั้นแนวเขต นายอาทิตย์จึงได้มาคัดค้านโดยอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตนเพราะตนได้ครอบครองทำประโยชน์มาหลายปีแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายวันและนายอาทิตย์ใครมีสิทธิครอบครองบนที่ดินแปลงนั้นดีกว่ากันเพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”
วินิจฉัย
การที่นายวันทำงานอยู่ที่กรุงเทพได้ซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากเพื่อน โดยไม่ได้มารังวังตรวจสอบเขตเพราะไม่มีเวลา ที่ดินแปลงนี้อยู่ใกล้กับที่ดินของนายอาทิตย์ซึ่งมีอาชีพทำนาและเลี้ยงวัว นายอาทิตย์ได้พาวัวเข้าไปกินหญ้าและเข้าไปตักน้ำในที่ดินนายวันมาใช้ประโยชน์ รดน้ำต้นไม้และใช้ในครัวเรือนของตนตลอดมาหลายปี  การกระทำของนายอาทิตย์นั้นยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครอง เพราะ การยึดถือที่ดินเพื่อให้เกิดสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นี้ จะต้องเข้ายึดถือทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้น การพาวัวเข้าไปกินหญ้า ตักน้ำมาใช้นั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการยึดถือทำประโยชน์ในที่ดินนั้น เมื่อนายวันได้รังวัดที่ดินเพื่อทำรั้วกั้นแนวเขต นายอาทิตย์จึงได้มาคัดค้านโดยอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตนเพราะตนได้ครอบครองทำประโยชน์มาหลายปีแล้วไม่ได้ เนื่องจากการกระทำของนายอาทิตย์ ไม่ครบองค์ประกอบของการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 กล่าวคือ ยังไม่ถือว่าเป็นการยึดถือทำประโยชน์ในที่ดินนั้น นายวันจึงมีสิทธิครอบครองบนที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายอาทิตย์
สรุป      นายวันมีสิทธิครอบครองบนที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายอาทิตย์





7. นายส้มตกลงขายที่ดินมือเปล่าของนายส้มแปลงหนึ่งให้นายแสด โดยทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายส้มและนายแสด แต่ไม่ได้จดทะเบียน นายส้มได้ส่งมอบที่ดินแปลงนั้นให้นายแสดครอบครอง และนายแสดได้ชำระราคาที่ดินเรียบร้อยแล้ว แต่ต่อมานายส้มได้นำที่ดินแปลงนี้ไปทำสัญญาขายให้นายแสง นายแสงจึงมาฟ้องขับไล่นายแสด ระหว่างนายแสดกับนายแสงใครมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากันเพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1377 ว.1 “ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง”
มาตรา 1378 “การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง”
วินิจฉัย
การที่นายส้มตกลงขายที่ดินมือเปล่าของนายส้มแปลงหนึ่งให้นายแสด โดยทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายส้มและนายแสด แต่ไม่ได้จดทะเบียน การกระทำของนายส้มเป็นการสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไป ส่งผลให้การครอบครองสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 ว.1 เมื่อนายส้มได้ส่งมอบที่ดินแปลงนั้นให้นายแสดครอบครอง และนายแสดได้ชำระราคาที่ดินเรียบร้อยแล้ว การครอบครองของนายส้มได้โอนไปยังนายแสดแล้ว โดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 แต่ต่อมานายส้มได้นำที่ดินแปลงนี้ไปทำสัญญาขายให้นายแสง นายแสงจึงมาฟ้องขับไล่นายแสด นายแสงไม่สามารถทำได้ เพราะนายแสดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นแล้ว ตั้งแต่นายส้มสละสิทธิครอบครองและส่งมอบที่ดินให้นายแสด ทำให้นายส้มไม่มีสิทธิในที่แปลงนี้ เมื่อนายแสงซื้อที่ดินมาจากนายส้มซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นแล้ว ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ทำให้นายแสดไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ ดังนั้น นายแสดมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายแสง เพราะนายส้มไม่มีสิทธิในที่ดินนี้แล้ว
สรุป     นายแสดมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายแสง เพราะซื้อที่ดินมาจากผู้ที่ไม่มีสิทธิ






8. นายอิ่มครอบครองปรปักษ์โดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายอ่ำ นายอิ่มครอบครองทำนามาได้ 6 ปี นายอิ่มตาย นายอาร์มบุตรชายนายอิ่มได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนั้นต่อจากนายอิ่ม นายอาร์มทำนาต่อมาได้ 7 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนครอบครองให้เรียบร้อย ถ้านายอ่ำฟ้องขับไล่นายอาร์มต่อศาลและพิสูจน์ในศาลได้ข้อเท็จจริงดังนี้ศาลจะพิพากษาตามข้อเท็จจริงนี้อย่างไรเพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
มาตรา 1385 “ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้ ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้ ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้”
วินิจฉัย
การที่นายอิ่มครอบครองปรปักษ์โดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายอ่ำ นายอิ่มครอบครองทำนามาได้ 6 ปี นายอิ่มตาย นายอาร์มบุตรชายนายอิ่มได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนั้นต่อจากนายอิ่ม นายอาร์มทำนาต่อมาได้ 7 ปี ดังนี้ นายอาร์มได้กรรมสิทธิ์บนที่ดินแปลงนี้จากการครอบครองปรปักษ์แล้ว เพราะหลังจากที่นายอิ่มครอบครองทำนาบนที่ดินแปลงนี้มา 6 ปี นายอิ่มตายลง และนายอาร์มบุตรชายได้เข้ามาครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนี้ต่อทันที ซึ่งการครอบครองปรปักษ์นั้นสามารถโอนการครอบครองให้แก่กันได้ โดยนับเวลารวมเข้าด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1385 เมื่อนายอิ่มครอบครองมา  6 ปี และนายอาร์มเข้าครอบครองต่ออีก 7 ปี รวมเป็น 12 ปี ซึ่งเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น โดยความสงบเปิดเผยและมีเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกัน 10 ปี ผู้ที่ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนครอบครองให้เรียบร้อย นายอาร์มก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายอ่ำโดยผลของกฎหมาย นายอ่ำจึงฟ้องขับไล่นายอาร์มต่อศาลไม่ได้เพราะนายอาร์มได้กรรมสิทธิ์แล้วจากการครอบครองปรปักษ์
สรุป     นายอ่ำจึงฟ้องขับไล่นายอาร์มต่อศาลไม่ได้เพราะนายอาร์มได้กรรมสิทธิ์แล้วจากการครอบครองปรปักษ์แล้ว


9. นายวันครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งมาได้ 6 ปี ก็ถูกนายเดือนฟ้องต่อศาลขับไล่ให้นายวันออกจากที่ดินแปลงนั้น ในขณะที่พิพากษากันในศาลเป็นระยะเวลา 3 ปี ช่วงระยะเวลาที่พิพาทกันในศาล นายวันไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์จนศาลฎีกาพิพากษาชี้ขาดว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเดือน แม้ศาลพิพากษาแล้วแต่นายวันกลับยังต้องการที่ดินแปลงนี้อยู่จึงได้เข้าไปทำประโยชน์ใหม่อีก 4 ปี ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นายวันได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงนั้นแล้วหรือยัง เพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
วินิจฉัย
การที่นายวันครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งมาได้ 6 ปี ก็ถูกนายเดือนฟ้องต่อศาลขับไล่ให้นายวันออกจากที่ดินแปลงนั้น ในขณะที่พิพากษากันในศาลเป็นระยะเวลา 3 ปี ช่วงระยะเวลาที่พิพาทกันในศาล นายวันไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์จนศาลฎีกาพิพากษาชี้ขาดว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเดือน แม้ศาลพิพากษาแล้วแต่นายวันกลับยังต้องการที่ดินแปลงนี้อยู่จึงได้เข้าไปทำประโยชน์ใหม่อีก 4 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองปรปักษ์ได้จะต้อง ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ตามข้อเท็จจริงขณะที่นายวันครอบครองมาได้ 6 ปีนั้น ได้ถูกนายเดือนฟ้องขับไล่ ดังนี้การครอบครองของนายวันจึงไม่ได้เป็นการครอบครองโดยสงบ จึงขาดหลักเกณฑ์ในการครอบครองปรปักษ์ที่จะได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ ดังนั้นนายวันจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงนั้น เพราะเป็นการครอบครองที่ไม่สงบ ไม่ครบหลักเกณฑ์
สรุป     นายวันจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงนั้น เพราะเป็นการครอบครองที่ไม่สงบ ไม่ครบหลักเกณฑ์





10. นายดำทำนาอยู่บนที่ดินของนายดำได้อาศัยน้ำในบ่อในที่ดินของนายแดง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของนายดำ สูบน้ำมากักเก็บในที่ดินของตนเพื่อไว้ใช้ทำนาและในครัวเรือนเป็นประจำทุกปีโดยไม่เคยบอกกล่าวหรือขออนุญาตจากนายแดงเลย นายดำทำนาบนที่ดินแปลงนั้นมาได้ 12 ปี นายแดงทราบว่านายดำเข้ามาสูบน้ำในบ่อบนที่ดินของตนไปใช้ นายแดงจึงกั้นรั้วและห้ามไม่ให้นายดำเข้ามาใช้น้ำในบ่อบนดินของนายแดงอีกต่อไป นายดำได้มาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำแนะนำกับนายดำอย่างไรเพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”
มาตรา 1401 “ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
วินิจฉัย
การที่นายดำทำนาอยู่บนที่ดินของนายดำได้อาศัยน้ำในบ่อในที่ดินของนายแดง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของนายดำ สูบน้ำมากักเก็บในที่ดินของตนเพื่อไว้ใช้ทำนาและในครัวเรือนเป็นประจำทุกปีโดยไม่เคยบอกกล่าวหรือขออนุญาตจากนายแดงเลย การกระทำของนายดำที่สูบน้ำมากักเก็บในที่ดินเพื่อทำนาและใช้ในครัวเรือนเป็นการใช้ประโยชน์ในบ่อน้ำในที่ดินของนายแดง เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง เมื่อนายดำทำนาบนที่ดินแปลงนั้นมาได้ 12 ปี ทำให้นายดำได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 เป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย บริบูรณ์ในฐานทรัพย์สิทธิ์ทันที ส่งผลให้บ่อน้ำในที่ดินของนายแดง ต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้นายแดงต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 ดังนั้นเมื่อนายแดงทราบว่านายดำเข้ามาสูบน้ำในบ่อบนที่ดินของตนไปใช้ นายแดงจึงกั้นรั้วและห้ามไม่ให้นายดำเข้ามาใช้น้ำในบ่อบนดินของนายแดงไม่ได้ เพราะนายดำได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความแล้ว
สรุป     นายแดงจะกั้นรั้วไม่ให้นายแดงเข้ามาใช้น้ำในบ่อดินของตนเองไม่ได้ เพราะนายดำได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความแล้ว



11. นายชดเป็นเจ้าของที่ดินมีลำคลองเล็กๆ ที่ชาวบ้านใช้สัญจรพายเรือเข้าออกหมู่บ้านเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วแต่ไม่เคยขออนุญาตจากนายชดและไม่มีใครมาขัดขวางหวงห้าม แต่นายชดเองก็ยังไม่ได้จดทะเบียนยกคลองนั้นให้เป็นทางสาธารณะ ต่อมานายชดห้ามมิให้ชาวบ้านใช้ได้หรือไม่ คลองที่ชาวบ้านใช้สัญจรนั้น ตกเป็นภาระจำยอมแล้วหรือยังเพราะเหตุใด
หลักกฎหมาย
มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”
มาตรา 1401 “ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
วินิจฉัย
การที่นายชดเป็นเจ้าของที่ดินมีลำคลองเล็กๆ ที่ชาวบ้านใช้สัญจรพายเรือเข้าออกหมู่บ้านเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วแต่ไม่เคยขออนุญาตจากนายชดและไม่มีใครมาขัดขวางหวงห้าม การที่ชาวบ้านใช้สัญจรพายเรือเข้าออกหมู่บ้านนั้นเป็นการใช้คลองนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ดังนั้นที่ดินมีลำคลองเล็กๆ ของนายชดจึงได้เกิดภาระจำยอมในการใช้คลองเพื่อเป็นทางสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 ถึงแม้ว่านายชดเองก็ยังไม่ได้จดทะเบียนยกคลองนั้นให้เป็นทางสาธารณะ แต่ชาวบ้านก็ได้ภาระจำยอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 เพราะได้ใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว นายชดจึงจะห้ามมิให้ชาวบ้านใช้ไม่ได้ เพราะคลองที่ชาวบ้านใช้สัญจรนั้น ตกเป็นภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วซึ่งเป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความเป็นการได้สิทธิ์โดยผลของกฎหมายบริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิทันที
สรุป     นายชดห้ามมิให้ชาวบ้านใช้ไม่ได้ คลองที่ชาวบ้านใช้สัญจรนั้น ตกเป็นภาระจำยอมแล้วเพราะได้มาโดยอายุความ